วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ศาลปกครอง

 
การพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองในประเทศไทย เริ่มมีตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในสมัยแรก อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองรวมอยู่ที่พระมหากษัตริย์และ ฝ่ายปกครอง ต่อมาได้เปลี่ยนมาอยู่ที่ฝ่ายตุลาการหรือศาลยุติธรรมเป็นหลัก แต่ในขณะนั้น รูปแบบของศาลไทยยังอยู่ในระบบศาลเดี่ยว คือ มีศาลยุติธรรมเป็นองค์กรหลัก ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง รวมถึงคดีปกครองด้วย ภายหลังนักกฎหมายและนักการเมืองต่างมีแนวความคิดว่า คดีปกครองเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีทั่วไป จึงได้เสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น แนวคิดดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2475 โดยได้มีการจัดตั้งกรรมการร่างกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 และกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 ขึ้น เพื่อเป็นที่ปรึกษากฎหมายและเป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาททางปกครอง แต่ในการดำเนินงานก็ยังประสบกับปัญหา ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 และจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ควบคู่กับคณะกรรมการร่างกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางปกครอง แม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดตั้งศาลปกครองเรื่อยมา แต่การจัดตั้งศาลปกครองก็ยังไม่เกิดผลสำเร็จ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีบทบัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาการจัดตั้งศาลปกครองให้แล้วเสร็จภายในสองปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับศาลปกครองไว้ด้วย ผลก็คือ ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และรูปแบบของศาลไทยจึงเปลี่ยนเป็นระบบศาลคู่ ซึ่งศาลปกครองจะแยกต่างหากและเป็นอิสระจากระบบศาลยุติธรรมอย่างเด็ดขาด นับแต่นั้นมา
 
   ศาลปกครอง หมายถึง ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยเฉพาะ อันไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น

ลักษณะพิเศษและโครงสร้างของศาลปกครอง

ลักษณะพิเศษของศาลปกครอง
ศาลปกครองมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากศาลยุติธรรมหลายประการ ลักษณะพิเศษที่สำคัญของศาลปกครอง คือ
ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินคดี คือ ศาลปกครองมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นใดได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับฟังเฉพาะคู่กรณีทั้งสองฝ่าย สาเหตุที่ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินคดี เนื่องมาจากคดีปกครองมีนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จากการออกกฎเกณฑ์ หรือการออกคำสั่งของฝ่ายปกครองที่สามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียว โดยไม่ได้อยู่บนหลักของความเสมอภาคกัน และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่จะใช้ในศาลเกือบทั้งหมดอยู่ในความดูแลหรือครอบครองของทางฝ่ายปกครอง จึงเป็นการยากที่เอกชน ประชาชนทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทางปกครองที่ประสงค์ฟ้องคดีจะหาพยานหลักฐานมา พิสูจน์ยืนยันข้อกล่าวอ้างของตนได้ ดังนั้น ในการค้นหาข้อเท็จจริง ถ้ายึดหลักเคร่งครัดว่าเป็นคู่กรณีที่จะต้องพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของตนเหมือน เช่นคดีในศาลยุติธรรม อาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีฝ่ายที่เป็นเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ จะฟ้องคดี ซึ่งต่างจากระบบการดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ที่ใช้ระบบกล่าวหาในการดำเนินคดี โดยศาลยุติธรรมจะรับฟังเฉพาะข้อมูลของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่แสดงต่อศาลเท่า นั้น
ระบบวิธีพิจารณาของศาลปกครองเป็นระบบถ่วงดุล ในการดำเนินคดีในศาลปกครอง มีการถ่วงดุลในการพิจารณา 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรก ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า ตุลาการเจ้าของสำนวน ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ฝ่ายที่สอง ผู้พิพากษาศาลปกครองหรือที่เรียกว่า องค์คณะ โดยเรียกผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่นี้ว่า ตุลาการผู้แถลงคดี ทำหน้าที่แถลงการณ์ต่อคณะผู้พิพากษา และฝ่ายที่สาม องค์คณะที่มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง โดยองค์คณะมีอิสระที่จะพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ โดยไม่ต้องพิพากษาหรือมีคำสั่งตามแนวความเห็นของตุลาการเจ้าของสำนวนหรือ ตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับระบบในศาลยุติธรรมที่ไม่มีการถ่วงดุลกัน 3 ฝ่าย ดังที่ใช้ในศาลปกครอง

ประเภทของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองและประเภทของคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

ประเภทของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จำแนกคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองออกเป็นประเภทได้ ดังนี้ คือ
• คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
• คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อ หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า เกินสมควร
• คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทาง ปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
• คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
• คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อ ศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
• คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

กระบวนการพิจารณาคดีในศาลปกครอง

กระบวนการพิจารณาคดีในศาลปกครอง มีความแตกต่างจากกระบวนการพิจารณาคดีในระบบศาลยุติธรรมโดยสิ้นเชิง โดยสามารถสรุปเป็นลำดับขั้นตอน ได้ดังนี้ คือ
• การรับคำฟ้องและการตรวจคำฟ้องเบื้องต้น
• อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นสั่งจ่ายสำนวนคดีให้องค์คณะและแต่งตั้งตุลาการผู้แถลงคดี
• องค์คณะสั่งจ่ายคดีให้ตุลาการเจ้าของสำนวน
• การตรวจคำฟ้องโดยตุลาการเจ้าของสำนวน
• ส่งหมายและสำเนาคำฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ
• ส่งสำเนาคำให้การให้ผู้ฟ้องคดีทำคำคัดค้านคำให้การหรือแจ้งความประสงค์ไม่ทำคำคัดค้านคำให้การภายในกำหนดเวลา
• ส่งสำเนาคำคัดค้านคำให้การให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การเพิ่มเติม
• ตรวจสอบความครบถ้วนเพียงพอของข้อเท็จจริง
• สรุปสำนวนเสนอองค์คณะและอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น
• อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นส่งสำนวนให้ตุลาการผู้แถลงคดีจัดทำคำแถลงการณ์
• การนั่งพิจารณาคดี
• ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
• การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
• ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี
• การขอให้พิจารณาใหม่
• การบังคับคดี